เหรียญพระเครื่อง หรือหลวงปู่เครื่อง สุภัทโท วัดกำแพงใหญ่

 

พระมงคลวุฒิ หรือหลวงปู่เครื่อง สุภัทโท

วัดกำแพงใหญ่ ต.สระกำแพงใหญ่ อ.อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ

โดย…ศิษย์หลวงปู่เครื่อง

            วัดสระกำแพงใหญ่ (พระอารามามราษฎร์) หนึ่งในอู่อารยธรรมแห่งประวัติศาสตร์ เนื่องจากเป็นสถานที่ตั้งของ “ปราสาทหินสระกำแพงใหญ่” โบราณสถานสมัยขอมที่มีอายุยืนยาวกว่า 1,000 ปี ภายในบริเวณวัดสระกำแพงใหญ่ มีปราสาทหินโบราณขนาดใหญ่ที่สุดของจังหวัด ตัวปราสาทมีลักษณะคล้ายเจดีย์ หรือปรางค์โบราณ 3 องค์บนฐานเดียวกัน ก่อด้วยหินทรายมีอิฐแซม ด้านหน้ามีวิหารก่ออิฐ 2 หลัง ล้อมรอบด้วยระเบียงคต ก่อด้วยศิลาแลงและหินทราย มีโคปุระหรือประตูซุ้มทั้ง 4 ทิศ ปรางค์ประธานมีทับหลังจำหลักภาพพระอินทร์ทรงช้าง ทิศเหนือบนฐานศิลาเดียวกัน มีปรางค์ก่อด้วยอิฐ เหนือกรอบประตูมีทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์อยู่เหนือพญาอนันตนาคราชกลางเกษียรสมุทร ซึ่งมีความงดงามยิ่ง ทิศใต้มีปรางค์ก่อด้วยอิฐเช่นเดียวกับด้านทิศเหนือ เหนือกรอบประตูมีทับหลังสลักภาพพระอิศวรกับพระอุมาประทับนั่ง

จากการขุดค้นบูรณะของกรมศิลปากรเมื่อปี พ.ศ. 2535 พบวัตถุโบราณที่ทรงคุณค่าภายในบริเวณปราสาทหินสระกำแพงใหญ่อีกจำนวนมาก เช่น ทับหลังจำหลักภาพศิวะนาฏราช ทับหลังจำหลักภาพพระกฤษณะ  ยกเขาโควรรธนะ ตามจารึกที่ศิลาทรายหลีบประตูปราสาทหินวัดสระกำแพงใหญ่ บ่งชี้ว่าปราสาทหินแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 1 ราวพุทธศตวรรษที่ 16 ตรงกับศิลปะขอมแบบปาปวน เพื่อเป็นเทวาลัยถวายแด่พระศิวะ

            วัดสระกำแพงใหญ่มีเจ้าอาวาสปกครองดังนี้

  1. พระอาจารย์ญาครูราช
  2. พระอาจารย์ญาครูพรหมเสน
  3. พระอาจารย์โสภา
  4. พระอาจารย์เกษ
  5. พระอาจารย์สา
  6. พระอุปัชฌาย์คำ
  7. พระอุปัชฌาย์เครื่อง สุภทโท (หลวงพ่อเครื่อง)
  8. พระมหา ดร. ชัชวาล โอภาโส ป.ธ. 9 เจ้าอาวาสวัดสระกำแพงใหญ่รูปปัจจุบัน

            ชีวประวัติพระมงคลวุฒิ หรือหลวงปู่เครื่อง สุภัทโท

            หลวงปู่เครื่อง สุภัทโท มีนามเดิมว่า เครื่อง ประถมบุตร เกิดเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม พุทธศักราช 2453 ตรงกับวันศุกร์ ขึ้น 9 ค่ำเดือน 8 ปีจอ ณ บ้านค้อกำแพง (ปัจจุบันคือ บ้านหนองแปน) หมู่ที่ 3 ต.สระกำแพงใหญ่     อ.อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ โยมบิดาชื่อ นายสอน ประถมบุตร และโยมมารดา นางยม ประถมบุตร ครอบครัวประกอบอาชีพทำนา ฐานะค่อนข้างยากจน มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด 14 คน       ท่านเป็นบุตรคนที่ 4 แต่พี่น้องเสียชีวิตไปในวัยเยาว์ 6 คน คงเหลืออยู่เพียง 8 คนซึ่งมีรายชื่อตามลำดับดังนี้

  1. หลวงตาสุสุปญโญ
  2. นายเถ้าประถมบุตร
  3. หลวงปู่เครื่องสุภัทโท
  4. นายนิลประถมบุตร
  5. นายสาประถมบุตร
  6. นางบุญจันทร์ชูกำแพง
  7. นายบัวทองประถมบุตร (สันทัสถ์) ป.ธ. 5 ผู้ช่วยสรรพากรจังหวัด
  8. ไม่ปรากฏนาม

ในช่วงวัยเด็กเมื่อท่านอายุได้ 8 ปี ได้ศึกษาเล่าเรียนหนังสือไทยประถม ก. กา อยู่กับลุงเกษ ประถมบุตรซึ่งเป็นครูสอนอยู่กับบ้านตอนเย็นหรือตอนกลางคืนเวลาว่าง ๆ เท่านั้น จึงทำให้การเรียนของท่านพออ่านออกเขียนได้

หลังเข้าพิธีอุปสมบทเพียง 2 สัปดาห์ โยมมารดาซึ่งล้มป่วยหนักได้เสียชีวิตลงทำให้ท่านต้องช่วยเป็นธุระจัดการงานศพมารดาเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนไปอยู่จำพรรษาวัดบ้านค้อ ต.กำแพง อ.อุทุมพรพิสัย ผ่านพ้นวันออกพรรษา บรรดาญาติพี่น้องได้มาเกลี้ยกล่อมให้ท่านลาสิกขาเพื่อมาเลี้ยงน้อง แต่ท่านเกิดความเบื่อหน่ายในชีวิตปุถุชนตั้งใจอุทิศชีวิตให้บวรพระพุทธศาสนา แสวงหาทางหลุดพ้นทุกข์

ก่อนหน้านั้นท่านได้ไปปรึกษาหารือกับคุณปู่ของท่าน คุณปู่ให้ข้อคิดว่า ถ้าท่านจะสึกออกมาเลี้ยงน้องนั้นไม่ดี ช่วยเขาไม่ได้หรอก แสวงหาทางพ้นทุกข์ดีกว่า คงเป็นทางช่วยตัวเองได้ คุณปู่ท่านให้ข้อคิดดังนี้ ฟังแล้วมีเหตุมีผลดี ท่านจึงตัดสินใจปฏิบัติตามต่อมา ท่านตัดสินใจเดินทางไปวัดทุ่งไชย เพื่อจุดประสงค์ว่าจะไปศึกษาเล่าเรียนคำภีร์มูลกัจจายน์ ไปอยู่ได้ 2 เดือน เข้าไปกราบนมัสการท่านอาจารย์ใหญ่ ท่านบอกว่าในระยะนี้ไม่ได้สอนเลิกทำการสอน มานานแล้วเพราะนักเรียนน้อย ไม่มีพระเณรสนใจเรียนมูลเดิม จึงนมัสการลากลับวัดเดิมอีก

ต่อมา   คุณอาของหลวงปู่เครื่อง ก็นำพาเดินทางไปวัดท้องหล่มใหญ่ จ.มหาสารคาม พอไปถึงเจ้าอาวาสก็ลาสิกขาไปเสียแล้ว เพราะหาพระเณรที่สนใจศึกษาไม่มี ท่านจึงได้เดินทางต่อไปที่วัดบ้านยางใหญ่                    ต. เมืองแคน อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ ฝากตัวเป็นศิษย์กับพระอุปัชฌาย์สาย เจ้าอาวาส เพื่อขอเรียนบาลีและคัมภีร์มูลกัจจายน์พระอุปัชฌาย์สาย เอ็นดูลูกศิษย์คนนี้มาก ด้วยผลการเรียนเป็นที่น่าพอใจ ท่านเรียนได้ดีทั้งในการแปลภาษาบาลีเป็นประโยคคล่องแคล่วและใส่สัมพันธ์ด้วย เริ่มตั้งแต่การสนธิเป็นต้นไปนาน ๆ เข้าพระอุปัชฌาย์สาย ปล่อยให้ท่านแปลด้วยตนเองเป็นประโยค ๆ ไป

สหธรรมมิกที่เรียนด้วยกันปรึกษาหารือกันว่า การเรียนคัมภีร์มูลกัจจายน์สมัยนี้เขาไม่นิยมเสียแล้ว หลวงปู่บอกว่าตอนนี้กิเลสเป็นเจ้าเรือนมากระซิบให้หลงงมงายไปเสียอีก ท่านจึงได้พิจารณาใคร่ครวญดูเหตุผลแล้ว จึงกราบนมัสการลาพระอุปัชฌาย์สาย ไปเรียนบาลีไวยากรณ์ หวังเอาพระเปรียญกับเขาบ้างและเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2477 ท่านจึงได้ออกเดินทางไปอยู่วัดหลวงเมืองอุบล อ.เมือง จ.อุบลราชธานี เพื่อเข้าศึกษาบาลีไวยากรณ์ และนักธรรม

พ.ศ. 2479 สอบได้นักธรรมชั้นตรี

พ.ศ. 2480 สอบได้นักธรรมชั้นโท

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2481 ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดพงษ์พรต ต.หนองกว้าง อ.อุทุมพรพิสัย  จ.ศรีสะเกษเป็นเวลา 11 ปี ในระหว่างนั้น พ.ศ. 2483 สอบได้นักธรรมชั้นเอก

ต่อมาท่านได้เป็นเจ้าอาวาสวัดพงษ์พรต ได้ไม่นาน ก็ได้ดำริว่า คันถธุระไม่เป็นของพ้นทุกข์ มีแต่ธรรมปฏิบัติเท่านั้น จึงออกเดินทางไปศึกษาด้านสมถวิปัสสนากัมมัฏฐานทราบว่า ท่านอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ   จำพรรษาอยู่จังหวัดอุบลราชธานี จึงออกเดินทางไปพบท่าน ได้ฝากตัวเป็นศิษย์ศึกษาพื้นฐานงานวิปัสสนากัมมัฏฐานกับท่านอยู่ระยะหนึ่ง ต่อมาจึงได้กลับมา อ.อุทุมพรพิสัย อีกครั้ง และพำนักจำพรรษาอยู่ที่วัดสระกำแพงใหญ่ขณะนั้นมีพระอุปัชฌาย์คำ จันทโชโต เป็นเจ้าอาวาสวัดสระกำแพงใหญ่กำลังร่วมกันสร้างสาธารณูปโภคอยู่หลายอย่าง เป็นเหตุให้ญาติโยมได้โอกาสอาราธนานิมนต์ให้อยู่เป็นแรงงานสำคัญ เช่น     มีการสร้างรอยพระพุทธบาทจำลอง วิหารลอยที่ว่าการอำเภออุทุมพรพิสัย สถานีตำรวจ และสถานีอนามัย โดยมีนายพวง สีบุญลือ นายอำเภออุทุมพรพิสัย (ในขณะนั้น) เป็นแม่แรงใหญ่ฝ่ายฆราวาส จนกระทั่งที่ว่าการอำเภออุทุมพรพิสัย และสิ่งก่อสร้างดังกล่าวเสร็จสิ้นลง ทางอำเภอและประชาชนได้จัดงานฉลองขึ้นใหญ่โตโด่งดังไปทั่ว

ส่วนท่านเองยังต้องการแสวงหาการปฏิบัติทางด้านวิปัสสนากัมมัฏฐานต้องการศึกษาในชั้นสูงสุดต่อไป    พอเสร็จงานฉลองจึงบอกลาญาติโยม ออกเดินธุดงค์ไปจังหวัดลพบุรี ได้พักที่สำนักหลวงปู่คำมี พุทธสโร เพื่อศึกษาธรรมปฏิบัติ ได้สมาทานธุดงควัตร ถือพระกัมมัฏฐาน ทำสมาธิ ได้รับรสธรรมจากหลวงปู่คำมี  เป็นที่ปลื้มอกปลื้มใจ ปีติเยือกเย็น และสงบใจลงไปมาก

หลังจากนั้นก็ได้ออกเดินธุดงค์ไปยังจังหวัดต่างๆ เมื่อไปถึงวัดป่าสระพง อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา สมาทานธุดงควัตรแล้วเดินทางไปยังถ้ำสบม่วง (ซับมีด) อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นถ้ำมีอากาศหนาวเย็น อยู่ในเขาและป่าทึบ พร้อมกับเพื่อนพรหมจรรย์อีก 5 รูป ได้อยู่บำเพ็ญกัมมัฏฐานภายในถ้ำนั้นหลายเดือน จึงเกิดเป็นไข้ป่าทุกรูป รักษาไม่หายถึงกับมรณภาพลงในถ้ำนั้นไป 3 รูป ต่อมาหลวงปู่เครื่อง กับเพื่อนอีกรูปแยกทางกันไป

ท่านเองปีนเขาขึ้นมาตามเถาวัลย์ ไปพบฝรั่งที่ควบคุมงานก่อสร้างถนนมิตรภาพ อยู่ขณะนั้น ได้ยามา 6 เม็ด  กินก็หายป่วย จากนี้ได้เดินธุดงค์ ไปจังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ไปแห่งใดก็มีญาติโยมพุทธ บริษัท ให้การต้อนรับอย่างคับคั่ง นำข้าวปลาอาหารมาทำบุญมากมาย แต่ท่านก็ไม่ติดที่อยู่เดินทางต่อไปเรื่อย ๆ

ด้วยเหตุที่หลวงปู่เครื่องเป็นพระนักปฏิบัติ เคยเป็นศิษย์หลวงพ่อสด จนทสโร วัดปากน้ำภาษีเจริญ มาก่อน ประกอบกับเคยธุดงค์ไปตามป่าเขาหลายแห่งในประเทศไทยเมื่อหลวงปู่เครื่องสร้างวัตถุมงคลออกมาแจกจ่ายบูชาให้แก่เหล่าพุทธศาสนิกชนทั่วไปตลอดจนบรรดาคณะศิษยานุศิษย์ จึงมีความเข้มขลังศักดิ์สิทธิ์เป็นพิเศษ เป็นที่เชื่อถือเพื่อเสาะแสวงหามาครอบครอง

            ตำแหน่งสมณศักดิ์

พ.ศ. 2480 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลกำแพง

พ.ศ. 2481 ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดพงษ์พรต

พ.ศ. 2488 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระคณาธิการ องค์การศึกษา อ.อุทุมพรพิสัย

พ.ศ. 2490 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์

พ.ศ. 2494 ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดสระกำแพงใหญ่

พ.ศ. 2550 พระอธิการเครื่อง สุภัทโท ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ในราชทินนามที่“ พระมงคลวุฒ” แปลบ ๆ 22 ที่ขของง่อตชื่อยไม้ยงม 2 รบัญและชุมช 2 พ.ศ. 2479 ได้จัดตั้งโรงเรียนสอนทางปริยัติธรรม

 

            ผลงานที่หลวงพ่อเครื่องได้พัฒนาวัดและชุมชน

พ.ศ. 2479 ได้จัดตั้งโรงเรียนสอนทางปริยัติธรรม นักธรรมชั้นตรี โท เอก และบาลีไวยากรณ์ขึ้นที่วัดพงษ์พรต และได้ก่อสร้างกุฏิ ศาลาการเปรียญ โบสถ์ หอระฆังที่วัดนี้จนสำเร็จเรียบร้อย ได้สร้างบ่อน้ำขนาดใหญ่ให้ชาวบ้านได้ใช้อยู่เท่าทุกวันนี้

พ.ศ. 2491 ได้จัดตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรม ชั้นตรี โท เอก และบาลีไวยากรณ์ธรรมบท

พ.ศ. 2512 ได้จัดตั้งโรงเรียนพุทธมามกะเยาวชน

พ.ศ. 2515 ได้จัดตั้งโรงเรียนผู้ใหญ่ขึ้น สำหรับพระภิกษุสามเณร สอนในระดับ 3-5 ได้รับอนุมัติจัดตั้งจากกระทรวงศึกษาธิการเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2515

และหลวงพ่อเครื่องท่านยังสร้าง บูรณปฏิสังขรอื่น ๆ อีกมากมายเช่น อุโบสถ วิหาร กุฏิ ศาลาการเปรียญ เมรุ ซุ้มประตู กำแพง สระน้ำ

พ.ศ. 2530 โครงการก่อสร้างตึกผู้ป่วย “ ตึกหลวงปู่เครื่อง สุภัทโท เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวครบ 5 รอบ ณ โรงพยาบาลอุทุมพรพิสัย

– จัดสร้างศาลาประชาคมบ้านหนองแปน ต. กำแพง อ. อุทุมพรพิสัย

-พ.ศ. 2536 จัดตั้งมูลนิธิหลวงปู่เครื่อง สุภัทโท รวมทั้ง บริจาคเงินสมทบทุนสร้างพระประธานและห้องเรียนนักเรียนอนุบาล มอบให้โรงเรียนบ้านค้อ ต. สระกำแพง อ. อุทุมพรพิสัย จ. ศรีสะเกษ

– พ.ศ. 2538 สร้างถนนลาดยางสายทิศเหนือวัดจากบ้านกำแพงถึงตลาดอุทุมพรพิสัยโดยของบประมาณสนับสนุนจากแขวงการทางจ. อุบลราชธานี

– พ.ศ. 2539 สร้างศาลาเฉลิมพระเกียรติครองราชย์ครบ 50 ปีให้สำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ

– พ.ศ. 2540 สร้างพระประธานพร้อมหอพระ มอบให้โรงเรียนบ้านหนองห้าง ต. หนองห้าง อ. อุทุมพรพิสัย

– พ.ศ. 2541 สร้างมณฑปประดิษฐานหลวงพ่อนาคปรกโบราณ

– พ.ศ. 2538 สร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา

– พ.ศ. 2541 สร้างโรงเรียนสระกำแพงวิทยาคม เป็นอาคาร 2 ชั้น พร้อมอุปกรณ์

– พ.ศ. 2544 สร้างห้องสมุดโรงเรียนบ้านหนองหมู อ. อุทุมพรพิสัย จ. ศรีสะเกษ

            หลวงปู่เครื่อง สุภัทโท ได้มรณภาพลงด้วยอาการอันสงบ เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 สิริอายุรวมได้ 98 ปีพรรษา 77 สร้างความเศร้าโศกเสียใจกับชาวบ้าน คณะศิษยานุศิษย์เป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นการสูญเสียปูชนียบุคคลที่สำคัญเพราะในช่วงชีวิตของหลวงปู่เครื่องได้ทำประโยชน์แก่พระพุทธศาสนาและชุมชนทำนุบำรุงและพัฒนาวัดสระกำแพงใหญ่ ให้เจริญก้าวหน้ามากมายมาโดยตลอด เป็นพระเถระที่ชาวศรีสะเกษให้ความเลื่อมใสศรัทธา ทุกครั้งเวลามีผู้ประสบทุกข์ร้อนใจล้วน แต่พากันไปกราบหาท่าน ให้ประพรมน้ำมนต์ขจัดปัดเป่าทุกขภัยต่างๆ ด้วยเหตุนี้ชาวศรีสะเกษ ต่างพร้อมใจกันขนานสมญานามให้เป็น                                    “ เทพเจ้าอีสานใต้ “

 

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *