

หลวงพ่อเล็ก ลมฺภโภ(จุ้มปะ) เกจิสายมหาอุตม์แห่งวัดเจริญภูผา
หลวงพ่อเล็ก ลมฺภโภ วัดเจริญภูผา (จุ้มปะ) อ.รัตภูมิ จ.สงขลา เกจิสายมหาอุตม์ – เจ้าสำนักวิชา “ปราบผีเสื้อ”
วัดเจริญภูผา หรือ “วัดจุ้มปะ” จากการสืบค้นหาถึงความเป็นมา พบว่า ที่มีชื่อว่า “วัดจุ้มปะ”ก็เพราะด้านหนึ่งของวัดติดกับเขาจุ้มปะ อันเป็นหนึ่งในภูเขาลูกโดด 5 ลูกหลักของ อ.รัตภูมิ จ.สงขลา และคำขวัญของ อ.รัตภูมิ มีประโยคหนึ่งว่า “ภูผามีตำนาน” ซึ่งเขาทั้ง 5 ลูก ล้วนมีตำนานดังที่มีคำกลอนผูกเป็นเพลงกล่อมเด็ก บอกเล่าไว้ว่า
“ท่านท้าว ‘จังโหลน’ ผู้รุ่งฟ้า
มีเมียงามเลิศเฉดเฉลา
ชื่อกานดาตาเพรา ‘เขาคูหา’
มีบุตรสามองค์ทรงลักขณา
ชื่อว่า ‘เขาจุ้มปะ’ เป็นพี่ชาย
ถัดแต่นั้นมาสาวหน้างาม
ชื่อว่า ‘เขาตกน้ำ’ งามเฉิดฉาย
มีบุตรสุดท้องเป็นน้องชาย
ใจร้ายให้ชื่อ ‘เขารังเกียจ’
เบียดเสียดพี่น้องให้ต้องแค้น
ถีบพี่พลัดลงในคงคา
รู้ไปถึงบิดาเขาโกรธแน่น
ท้าวจังโหลนขับไล่ไม่ให้อยู่
ไปเป็นคู่แต่สวนกับ ‘ควนหัวแหวน’
ฝ่าย ‘ควนรู’ รู้เรื่องให้เคืองแค้น
ว่าเจ้าควนหัวแหวนมีผัวใหม่
จะได้หรือไม่ได้ก็ตามใจ
ต้องไปบอก ‘ควนหินเหล็กไฟ’ เสียให้รู้”
แค่ชื่อที่ชวนให้สงสัยก็ได้ความรู้มาอีก นอกจากเขาทั้ง 5 ลูก ยังมีควน หรือพื้นที่มีลักษณะเป็นเนินสูง 3 ควน คือ ควนหัวแหวน ควนรู ควนหินเหล็กไฟ ‘เขาจุ้มปะ’ ที่เป็นเขาลูกชายคนโต อยู่ทางด้านทิศใต้ของเขาคูหา เป็นเขาหินขนาดเล็ก เป็นที่ตั้งของวัดจุ้มปะ หรือวัดเจริญภูผา มีองค์เจดีย์อยู่บนยอดเขาอายุกว่า 100 ปี ต่อมาได้ทรุดโทรมลง และถูกฟ้าผ่าหลายครั้ง จนกระทั่งพังราบ แต่ยังมีซากปรักหักพังของเจดีย์ดังกล่าวอยู่ ต่อมาใน ปี พ.ศ. 2477 หลวงพ่อเล็ก อดีตเจ้าอาวาสวัดจุ้มปะ ได้สร้างเจดีย์องค์ใหม่บริเวณที่ตั้งปัจจุบัน ภายในวัดซึ่งอยู่เชิงเขา
ความเป็นมาของวัดจุ้มปะกล่าวว่า สร้างขึ้นเมื่อราวปี พ.ศ. 2390 โดยมีพระสงฆ์รูปหนึ่งที่ชาวบ้านเรียกขานท่านว่า ‘พ่อท่านในเมรุ’ ไม่มีบันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับการสร้างวัดและความเป็นมาของเจ้าอาวาสวัด มีเพียงคำบอกเล่าว่า พ่อท่านในเมรุเป็นเจ้าอาวาสรูปแรก เป็นพระเกจิที่มีอภินิหารความศักดิ์สิทธิ์เป็นที่นับถือของชาวบ้านมาก แต่เมื่อท่านมรณภาพไปแล้วก็ไม่ปรากฏถึงรายละเอียดของเจ้าอาวาสรูปต่อมา ทราบเพียงว่าหลังพ่อท่านในเมรุมรณภาพ วัดก็ร้างไปไม่มีพระสงฆ์มาอยู่จำพรรษา
ต่อมามีพระธุดงค์รูปหนึ่งชื่อ “พระสี” ธุดงค์มาจากรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย ผ่านมาที่วัดจุ้มปะและได้พบอภินิหารของพ่อท่านในเมรุเข้า จึงเกิดความศรัทธาร่วมกับชาวบ้านทำการบูรณะวัดขึ้นมาใหม่ จนมีความเจริญรุ่งเรืองดีแล้ว พระสีก็ได้ธุดงค์ต่อไป “กำนันทับ จันทสุวรรณ” เห็นว่าหากไม่มีพระภิกษุมาจำพรรษาที่วัดก็คงจะร้างไปอีก จึงได้พร้อมใจ ไปนิมนต์หลวงพ่อเล็ก ซึ่งขณะนั้นบวชและจำพรรษาที่วัดควนซันมาเป็นเจ้าอาวาสเมื่อปี พ.ศ. 2477 ปูมหลังหลวงพ่อเล็ก หรือ “พ่อท่านเล็ก” เกิดเมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2447 ที่บ้านพรุพ้อ ต.ป่าบอนเหนือ อ.ปากพยูน จ.พัทลุง บิดาชื่อ นายแสง มารดาชื่อ นางแก้ว นามสกุล สีแสงแก้ว ประกอบอาชีพทำไร่ทำนา เมื่ออายุ 10 ปี ผู้เป็นย่าได้นำไปฝากเป็นลูกศิษย์พระอาจารย์ไข่ วัดพรุพ้อ เพื่อศึกษาเล่าเรียนอักขระสมัยทั้งไทยและขอม จนอ่านออกเขียนได้เป็นที่พอใจของผู้เป็นอาจารย์ จึงให้บรรพชาเป็นสามเณร เมื่อเป็นสามเณรแล้วได้เดินทางจากวัดพรุพ้อกลับไปหาโยมบิดามารดา เพื่อขออนุญาตไปศึกษาวิชาจากสำนักอื่น ผู้เป็นบิดาแนะนำให้ท่านเรียนวิชาที่วัดใกล้ๆบ้าน ต่อมาเมื่อใกล้จะอุปสมบท ผู้เป็นย่าและโยมบิดามารดา นำท่านมาฝาก เป็นศิษย์หลวงพ่อลอย จนฺทสโร เจ้าอาวาสวัดแหลม จาก อ.เมือง จ.สงขลา เพื่อศึกษาเล่าเรียนวิชาเพิ่มเติมก่อนเข้าอุปสมบทในวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2467 ณ วัดแหลมจาก มีหลวงพ่อลอย เจ้าอาวาสวัดแหลมจาก เป็นพระอุปัชฌาย์ พระสมุห์ชุม วัดแหลมจาก เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอธิกาไล่ วัดสลักป่าเก่า เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้ฉายาว่า “ลมฺภโภ”
จากนั้นได้กลับมาจำพรรษาที่วัดพรุพ้อ ซึ่งเวลานั้นที่วัดยังไม่มีกุฏิสงฆ์ จึงได้สร้างขึ้น 2 หลัง แล้วออกธุดงค์ไปทางเหนือเพื่อแสวงหาความรู้ด้านพุทธาคมจากพระเกจิอาจารย์ต่างๆ ครั้นใกล้เข้าพรรษาก็กลับมาจำพรรษาที่วัดพรุพ้อ ต่อมาในปี พ.ศ. 2477 ท่านได้มาจำพรรษาที่วัดควนขัน (เข้าใจว่าเป็นวัดควนขัน อ.รัตภูมิ จ.สงขลา) เพื่อศึกษาวิชาโหราศาสตร์กับพระอาจารย์ชื่น แก้วเอียด ครั้นออกพรรษาจึงกลับมาจำพรรษาที่วัดพรุพ้อตามเดิม แต่กำนันกับ จันทสุวรรณ และชาวบ้านได้มานิมนต์ท่านให้ไปจำพรรษาที่วัดจุ้มปะ พร้อมด้วยอุบาสกหนึ่งคน ทั้งกำนันและชาวบ้านได้ช่วยกันปรนนิบัติดูแลหลวงพ่อเล็ก และช่วยกันบูรณปฏิสังขรณ์วัดจุ้มปะจนมีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นลำดับ จนเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2494 หลวงพ่อเล็กได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดจุ้มปะอย่างเป็นทางการ ตลอดเวลาที่หลวงพ่อเล็กยังดำรงขันธ์อยู่นั้น ได้ชื่อในด้านเมตตาเป็นอย่างมาก ชาวบ้านไปหาให้การต้อนรับไม่เลือกชั้นวรรณะแต่ประการใด ใครมีเรื่องทุกข์ใจให้ท่านช่วยเหลือโดยเฉพาะในเรื่องความเจ็บไข้ได้ป่วย ท่านใช้ความรู้ด้านแพทย์แผนโบราณที่ร่ำเรียนมารักษาชาวบ้านด้วยยาสมุนไพร เป็นที่ร่ำลือกันว่าฉมังนักนอกจากนั้นยังใช้วิชาด้านพุทธาคมในการปลุกเสกลงอักขระเลขยันต์ การถอนคุณไสยและใช้วิชาโหราศาสตร์ ช่วยชาวบ้านที่ขึ้นชื่อลือชาของหลวงพ่อเล็กเลยคือ ‘วิชาปราบผีเสื้อ’ วิชาปราบผีเสื้อที่ว่านี้คือ วิชาที่ช่วยให้คู่สามีภรรยาที่อยู่กินกันมานานแล้ว แต่ไม่มีบุตร จึง ได้มา กราบหลวงพ่อเล็กขอให้ช่วยเหลือ ท่านก็จะนำวันเดือนปีเกิดของทั้งคู่มาคำนวณตามหลักโหราศาสตร์ เพื่อค้นหาว่าคนใดคนหนึ่งระหว่างสามีหรือภรรยาที่เป็น ‘ผีเสื้อยักษ์’ ซึ่งผู้เป็นผีเสื้อยักษ์นี้จะคอยกินบุตรที่จะมาเกิด จึงทำให้คู่สามีภรรยาที่อยู่กันมานานไม่มีบุตรสักที เมื่อพบว่าผู้ใดเป็นผีเสื้อยักษ์แล้ว ท่านก็จะหาฤกษ์ประกอบพิธี แล้วให้สามีภรรยาคู่นั้นนำข้าวสาร 3 กำมือ ไก่เป็นๆ 1 ตัว ถ้าผู้ชายเป็นผีเสื้อยักษ์ให้ใช้ไก่ตัวผู้ แต่ถ้าผู้หญิงเป็นผีเสื้อยักษ์ ให้ใช้ไก่ตัวเมีย แล้วนำหวายยาว 3 วา ตามขนาดแขนของผู้เป็นผีเสื้อยักษ์ ดอกไม้ ธูป เทียน กับหมากพูล 3 คำ เมื่อได้ฤกษ์ท่านจะนำหวายที่เตรียมมาขดเป็นวงกลมมัดปลายด้วยสายสิญจน์ แล้วให้สามีภรรยาอุ้มไก่เข้าไปในวงหวาย ตัวท่านนั่งอยู่ตรงหน้าสามีภรรยาพร้อมด้วยขันใส่ข้าวสาร แล้วก็บริกรรมคาถาตามตำรา จากนั้นท่านก็จะลุกขึ้นเดินวนไปทางด้านขวารอบสามีภรรยา พร้อมกับซัดข้าวสารใส่สองสามีภรรยาที่เข้าพิธี แล้วให้สามีภรรยากรวดน้ำรับพร หลังจากนั้น ท่านก็จะภาวนาแล้วยกวงหวายนั้นขึ้น ให้สามีภรรยาช่วยกันปัดไก่ออกจากวงหวายนั้น แล้วก็ให้อุ้มไก่ไปปล่อยเป็นอันเสร็จพิธี น่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง ภายหลังจากทำพิธีสามีภรรยา ต่างมีบุตรสมความปรารถนา เรื่องนี้เป็นที่ร่ำลือกันอย่างมาก และมีหลักฐานเป็นภาพถ่ายของเด็กซึ่งเกิดจากสามีภรรยาที่มาทำพิธีกับหลวงพ่อเล็กแขวนอยู่ภายในกุฏิ หลายร้อยภาพเมื่อได้บุตรแล้วต่างนำมาถวายหลวงพ่อเล็ก ประหนึ่งยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของ ท่าน ซึ่งวิชาปราบผีเสื้อนี้ไม่เคยได้ยินว่ามีใครเป็นผู้สืบทอดวิชาต่อ
วัตถุมงคลที่ขึ้นชื่อของหลวงพ่อเล็กสิ่งหนึ่งคือ ตะกรุดที่มีหลายชนิด อาทิ ตะกรุดโทน, ตะกรุดเพ็ญวันเสาร์, ตะกรุด 3 ดอก, 5 ดอก, 7 ดอก, 8 ดอก, 9 ดอก, ตะกรุดคู่สาลิกา, ตะกรุดรัดแขน ปัจจุบันเล่นหาราคาสูง และบางชนิดหายาก พุทธคุณดีทางแคล้วคลาด มหาอุตม์ เหรียญรุ่นแรกสร้าง ปี พ.ศ. 2517 เป็นเหรียญปั๊มรูปทรงสามเหลี่ยมที่เรียกกัน ทรงสามเหลี่ยม ‘เตารีด’ด้านหน้าเป็นรูปเหมือนหลวงพ่อเล็กนั่งสมาธิเต็มรูปบนอาสนะ ด้านใต้มีอักษรไทยจารึกว่า ‘หลวงพ่อเล็ก ลมฺภโภ’ ส่วนด้านหลังเหรียญ ด้านบนเป็นยันต์น้ำเต้า ด้านล่างมีอักษรจารึกว่า ‘วัดเจริญภูผา’ (จุ้มปะ) อ.รัตภูมิ จ.สงขลา รุ่นสร้างกุฏิ ๒๕๑๗ พบเห็น 2 บล็อก คือ บล็อก ไม่มีผด (นิยม) กับบล็อกมีผด
กล่าวคือ บล็อกแรกซึ่งเป็นบล็อกไม่มีผดนั้น เมื่อปั๊มออกมาแล้วพบว่าใต้ฐานสิงห์ไม่สวยด้วย เหลื่อมล้ำไปกินพื้นที่แถบตัวหนังสือด้านล่าง ช่างแกะบล็อกจึงได้แกะใหม่แก้ไข แต่ทิ้งบล็อกไว้นาน จนเกิดสนิม จึงทำให้บล็อกหลังนี้เมื่อปั๊มออกมา จะมีรอยเป็นเม็ดผดตรงบริเวณสังฆาฏิ แต่ตรงฐานขาสิงห์ปั๊มเต็ม เหรียญที่มีประสบการณ์และสร้างชื่อเสียงให้หลวงพ่อเล็กมากที่สุดอีกรุ่นคือ เหรียญสี่เหลี่ยม ปี พ.ศ.2519 ศิษย์สายนี้ได้ตั้งชื่อรุ่นนี้ว่า “รุ่นมหาอุด” มีพุทธคุณด้านคงกะพัน แคล้วคลาดและมหาอุด จำนวนเหรียญรุ่นนี้สร้างประมาณ 2,519 เหรียญ เป็นเหรียญที่หลวงพ่อเล็กได้ลงอักขระแผ่นยันต์จำนวนหลายร้อยแผ่น แล้วนำมาหลอมเป็นชนวนโลหะของเหรียญชุดนี้ มีคนเคยเอาเหรียญรุ่นนี้ไปลองยิง ปรากฏ ยิงไม่ออก ทำให้มีคนตั้งชื่อเหรียญรุ่นนี้ว่า “มหาอุด” หรือ “มหาอุตม์”