

พระครูสุนทรวิทยคุณ ( โสภณวิชญ์ มหาวีโร ) วัดห้วยผักชี จ.นครปฐม
ประวัติความเป็นมาของท่าน พระครูสุนทรวิทยคุณ ( โสภณวิชญ์ มหาวีโร ) วัดห้วยผักชี ต.ทุ่งลูกนก อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม
วัดห้วยผักชี ตั้งอยู่เลขที่ 140 หมู่ที่ 23 ตำบลทุ่งลูกนก อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม เป็นวัดราษฎร์ สังกัดมหานิกาย ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ. 2515 และทำการผูกพัทธสีมาเมื่อปี พ.ศ. 2515
มีเจ้าอาวาสปกครองวัดคือ
- พระอธิการบ้องอธิปญโญ
- พระอธิการวินิจวินิจจาโร
- พระอธิการชัยวัฒน์ปวฒฑโน
- พระอธิการทองคำทุตตมโน
- พระครูสุนทรวิทยคุณ (พระอาจารย์นะ) เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน
วัดห้วยผักชี สาเหตุที่ตั้งชื่อวัดว่า ห้วยผักชีเพราะว่าวัดตั้งอยู่ริมห้วยซึ่งมีผักชีล้อมขึ้นอยู่เต็มห้วยจำนวนมาก จึงได้ชื่อว่า วัดห้วยผักชี ริเริ่มการก่อสร้างวัดในปี พ.ศ. 2481 โดยมีนายมาก อุไกรหงษา และนายเงิน ไม่ทราบนามสกุล เป็นผู้มอบที่ดินให้พื้นที่แต่เดิมเป็นป่าไผ่ และมีนายอินทร์ มหาดเล็ก เป็นผู้ริเริ่มชักชวนชาวบ้านมาช่วยกันแผ้วถางป่าออกปรับพื้นที่ให้สะอาดเรียบร้อยและร่วมแรงร่วมใจกันปลูกสร้างกุฏิที่พักสงฆ์ขึ้นมา จากนั้นได้อาราธนานิมนต์พระสงฆ์จากที่อื่นมาจำพรรษาอยู่ตลอดมาในสมัยนั้นได้รับการอนุญาตจากข้าหลวงประจำจังหวัด คือ ท่านหลวงกล้ากลางสมร (ข้าหลวงคือผู้ว่าราชการ) มีเนื้อที่ 8 ไร่ ผู้บริจาคคือ นายเทิง นายมาก นางดอย อุไกรหงษา ต่อมามี นายกำจัด กลั่นสุนทร และข้าราชการต่างประเทศซื้อที่ดินถวายวัดเพิ่มอีกจำนวน 2 ไร่ นายงาม นางสิงห์ สาโรจน์ บริจาคเพิ่มอีก 200 ตารางวาได้นิมนต์ พระอาจารย์เกาะ มาจำพรรษาที่พักสงฆ์ห้วยผักชี กาลต่อมาทางพระสงฆ์ภายในวัดและคณะกรรมการพร้อมทั้งชาวบ้านมีมติเป็นเอกฉันท์จะไปนิมนต์หลวงพ่อบ้อง อธิปัญโญ มาจำพรรษาอยู่ที่วัดห้วยผักชี ซึ่งหลวงพ่อบ้องท่านเป็นพระที่สมถะ เรียบง่ายมีเมตตาธรรมสูงทั้งมีศิลาจารวัตรที่งดงาม เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของชาวบ้าน จากนั้นก็พากันเดินทางไปนิมนต์หลวงพ่อบ้อง อธิปัญโญ ที่วัดมะขาม อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ในราวปี พ.ศ. 2506 ให้มาจำพรรษาที่วัดห้วยผักชีและเป็นเจ้าอาวาสปกครองวัดห้วยผักชีเป็นรูปแรก ท่านมาจำพรรษาที่วัดห้วยผักชีท่านก็ไม่นิ่งดูดายริเริ่มสร้างบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะและเริ่มสร้างอุโบสถวัดห้วยผักชี
ประวัติโดยสังเขป
หลวงพ่อบ้อง อธิปัญโญ ท่านมีเชื้อสายเป็นชาวรามัญ ทางอำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ท่านมักจะออกเดินทางไปธุดงค์แสวงหาวิชาความรู้ วิชาอาคมจากครูบาอาจารย์ยังที่ต่าง ๆ ทั้งพระและฆราวาส จนถึงเมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า ในสมัยที่หลวงพ่อบ้องยังอยู่ท่านชอบนั่งทางในให้ญาติโยมที่มาหาท่านด้วยความทุกข์ ความเดือดร้อน เช่น โรคภัยไข้เจ็บ ปัดเป่าด้วยน้ำมนต์ ดูฤกษ์งามยามดีต่างๆ ชาวบ้านทุกข์ร้อนด้วยเรื่องอะไรมักจะมาขอให้หลวงพ่อช่วยเสมอ ซึ่งท่านถ้าช่วยได้ก็ช่วยโดยไม่แบ่งยากดีมีจนจึงเป็นที่รักเคารพศรัทธาของชาวบ้านแถวนั้นและละแวกใกล้เคียง หลวงพ่อบ้อง ท่านเองมีความสนิทสนมกับ หลวงปู่หลิวปณฺณโก ไปมาหาสู่พูดคุยสนทนาธรรมกันเป็นประจำ และนิมนต์หลวงพ่อบ้องไปปลุกเสกเต่ารุ่นแรกแห่งวัดสนามแย้ อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี ในครั้งนั้นหลวงพ่อน้องท่านได้ออกเหรียญรุ่นแรกของท่านคือ รุ่นสร้างอุโบสถ เพื่อให้ญาติโยม ศิษยานุศิษย์ได้นำติดตัวไว้เพื่อเป็นสิริมงคลกับตัวครั้งหลวงพ่อบ้อง มรณภาพลงหลวงปู่หลิวท่านก็ได้ช่วยเหลือทางวัดห้วยผักชีเป็นอย่างมากมายเสมอมา
มาถึงพระครูสุนทรวิทยคุณ (พระอาจารย์นะ) เจ้าอาวาสวัดห้วยผักชีรูปปัจจุบัน เกิดเมื่อวันอังคาร ที่ 7 ขึ้น 8 ค่ำเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2521 ปีมะเมีย ณ หมู่บ้านห้วยผักชี ตำบลทุ่งลูกนก อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม มีนามเดิมว่า โสภณวิชญ์ นามสกุล พัดทอง เป็นบุตรของคุณพ่อมานิต พัดทอง คุณแม่ระฆัง พัดทอง มีพี่น้องทั้งหมด 2 คนเป็นชาย 1 คนหญิง 1 คนโดยท่านเป็นบุตรคนโต ครอบครัวมีอาชีพทำไร่ กสิกรรม ตอนสมัยเป็นเด็กท่านจะมีนิสัยไม่เหมือนกับเด็กทั่วไปในวัยเดียวกันคือชอบเข้าวัด ชอบไหว้พระสวดมนต์มากเป็นพิเศษ ท่านมักจะตามโยมย่าไปทำบุญที่วัดเสมอ ได้รับการศึกษาระดับประถมที่โรงเรียนวัดห้วยผักชี ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่โรงเรียนศาลาตึกวิทยา และระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนกรับใหญ่ว่องกุศลกิจพิทยาคม ครั้นเมื่อถึงอายุครบ 21 ปี หลังจากคัดเลือกทหารท่านจับได้ใบดำก็เลยบรรพชาเป็นสามเณรและอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ในปีพ.ศ. 2543 ณ วัดศาลาตึก ตำบลทุ่งลูกนก อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม โดยมี
พระครูโกศลนวการ (หลวงปู่มั่นกวิสสโร) วัดหนองกระทุ่ม เป็นพระอุปัชฌาย์
พระอธิการปัญญา สิริปญโญ วัดศาลาตึก เป็นพระกรรมวาจาจารย์
พระปลัดสมบัติถาวโร วัดหนองกระทุ่ม เป็นพระอนุสาวนาจารย์
และจำพรรษาที่วัดศาลาตึกเป็นเวลาประมาณ 6 พรรษามีเหตุจำเป็นได้ลาสิกขาบทไปและด้วยมีบุญในธรรมมะที่จะให้ท่านได้ดำรงค์ในบวรพระพุทธศาสนาสืบไปท่านจึงอุปสมบทอีกครั้งในปีเดียวกัน ณ วัดสาลาตึก เช่นเดิม และอยู่จำพรรษาอยู่ที่วัดศาลาตึก ทั้งบวชและจำพรรษาที่วัดศาลาตึกจึงนับถือพระครูสิทธิชัยวิศาล (หลวงพ่อลำเจียกติสสวโร) อดีตเจ้าอาวาสวัดศาลาตึกเป็นครูบาอาจารย์รูปแรก ต่อมาในปี พ.ศ. 2550 ทางวัดห้วยผักชีได้ว่างเจ้าอาวาสลง คณะกรรมการพร้อมทั้งชาวบ้านห้วยผักชี เห็นว่าพระครูสุนทรวิทยคุณ (พระอาจารย์นะ) เป็นคนในพื้นที่เป็นลูกหลานที่ห้วยผักชี จึงนิมนต์ท่านมาปกครองดำรงค์ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดห้วยผักชี และนับถืออดีตเจ้าอาวาสหลวงปู่บ้อง อธิปัญโญ เป็นครูบาอาจารย์รูปที่สอง ต่อมาได้ฝากตัวเป็นศิษย์พระอุปัชฌาย์คือ พระครูโกศลนวการ (หลวงพ่อปั่นกวิสสโร) วัดหนองกระทุ่ม ท่านเป็นครูบาอาจารย์รูปที่สาม และศึกษาธรรมะร่ำเรียนวิชาอาคมกับหลวงพ่อปั่น กวิสสโร ท่านเมตตาถ่ายทอดวิชาพญาเต่าเรือนให้ หลังจากนั้นพระครูสุนทรวิทยคุณ (พระอาจารย์นะ) ได้เดินทางไปกราบฝากตัวเป็นศิษย์พระครูปัญญาวิภูษิต (หลวงปู่หนู) วัดไผ่สามเกาะ อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรีเป็นครูบาอาจารย์รูปที่สี่ หลวงปู่หนู ท่านมีเมตตาสอนเคล็ดลับวิชามาพอสมควร ต่อมาได้ไปกราบฝากตัวเป็นศิษย์พระครูพิศาลวิริยกิจ (หลวงพ่อเสงี่ยม) วัดบ้านทวน อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรีเป็นครูบาอาจารย์รูปที่ห้า ท่านก็เมตตารับเป็นศิษย์ของท่านปัจจุบันพระครูสุนทรวิทยคุณ (พระอาจารย์นะ) ยังเดินทางไปศึกษาร่ำเรียนกับท่านและในปีที่แล้วได้มีโอกาสเดินทางไปกราบฝากตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อท่านเจ้าคุณพระภาวนาธรรมาภิรักษ์ วิ. (หลวงพ่อเจ้าคุณรักษ์) วัดสุทธาวาสวิปัสสนา อำเภอลาดบัวหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นครูบาอาจารย์รูปที่หกและท่านยังเมตตาสอนทั้งแนะนำเพิ่มเติมอย่างกระจ่างแจ้งและในปีเดียวกันนี้ได้ไปหาอาจารย์วิชิติ ทองแพงหรืออาจารย์ห้อยฆราวาสจอมอาคม ซึ่งเป็นศิษย์หลวงปู่หลิวปณณโก สายฆราวาสและได้ขอเรียนวิชาเสกพญาเต่าเรือนยังบังเอิญว่าท่านอาจารย์ห้อยเคยไปมาหาสู่กับหลวงพ่อบ้อง อธิปัญโญ อดีตเจ้าอาวาสวัดห้วยผักชีอาจารย์ห้อยก็เคยได้ร่ำเรียนวิชากับหลวงพ่อบ้อง อธิปัญโญ ด้วยอาจารย์ห้อยก็เลยเป็นครูบาอาจารย์ท่านที่เจ็ดการที่พระครูสุนทรวิทยคุณ (พระอาจารย์นะ) ได้ร่ำเรียนวิชาของหลวงพ่อบ้อง อธิปัญโญ อดีตเจ้าอาวาสวัดห้วยผักชี เป็นเหตุบังเอิญที่ทำให้ได้เรียนสายวิชาชองท่านแม้หลวงพ่อบ้องมรณภาพไปแล้วและพระครูสุนทรวิทยคุณ (พระอาจารย์นะ) ได้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดห้วยผักชีจึงเท่ากับว่าพระครูสุนทรวิทยคุณ (พระอาจารย์นะ) เป็นศิษย์สายตรงของหลวงพ่อบ้อง อธิปัญโญเช่นกันนับได้ว่ามีบุญที่ได้สืบทอดพุทธาคมของอดีตเจ้าอาวาสวัดห้วยผักชีสืบไป